"www.halaqah-addirasiah.blogspot.com ................. أهلا وسهلا يا رمضان كريم................... Apabila kamu Berpuasa maka hendaklah berpuasa pendengaranmu,penglihatanmu,lidahmu,daripada dusta dan dusa,dan tingallah menyakiti khadam.hendaklah kamu mengharmatinya dan bersikap tenang pada hari puasamu.jgn kamu samakan hari puasamu dgn hari tidak puasa,{ AL-HADIS }

Ahad, 12 Jun 2011

เรียนรู้การเมือง



การเลือกตั้งที่กำลังมาถึงในเร็ว ๆ นี้ เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนของคนจำนวนไม่น้อย เพราะรัฐบาลที่จะตามมานั้น ยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร เข้ามาแล้วจะมีนโยบายอย่างไรชัดเจนแม้ว่าจะมีการประกาศนโยบายต่าง ๆ ของพรรคการเมืองออกมาแล้ว นอกจากเรื่องของนโยบายแล้ว แนวความคิดหรือปรัชญาทางการเมืองของแต่ละพรรคก็เป็นประเด็นสำคัญไม่น้อยกว่าหรือน่าจะพูดว่าสำคัญยิ่งกว่าเรื่องของนโยบายที่เขียนไว้ เพราะแนวความคิดหรือปรัชญาทางการเมืองนั้น มักจะเป็นตัวกำหนดว่า พรรคนั้นจะทำอย่างไรหรือตัดสินใจอย่างไรต่อแนวทางในการบริหารประเทศโดยเฉพาะในด้านของเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ จะเอื้อหรือขัดขวางการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน
แนวความคิดหรือปรัชญาทางการเมืองหลัก ๆ ที่ผมคิดว่าสามารถอธิบายได้ชัดเจนในโลกนี้น่าจะแบ่งได้เป็นสองค่ายหรือสองกลุ่มนั่นก็คือ ฝ่ายที่เรียกว่า “ทุนนิยม” กับฝ่าย “สังคมนิยม” แต่นี่ก็เป็นเพียงเรื่องของแนวความคิดทางเศรษฐกิจที่สองฝ่ายมีความเห็นไม่เหมือนกันหรือตรงกันข้าม ที่จริงยังมีเรื่องหรือประเด็นอื่น ๆ อีกมากที่แต่ละฝ่ายมองไม่เหมือนกันและดังนั้นเวลาแบ่งค่ายจึงมีการใช้คำที่ครอบคลุมความหมายที่กว้างกว่าโดยเรียกว่าเป็น ฝ่าย “ขวา” กับฝ่าย “ซ้าย” โดยที่ฝ่ายขวานั้นเชื่อในระบอบเศรษฐกิจที่เป็นทุนนิยมและฝ่ายซ้ายเน้นที่สังคมนิยม
ถ้าจะให้มองภาพที่ชัดเจนว่าฝ่ายขวาคิดอย่างไรและฝ่ายซ้ายคิดอย่างไรในประเด็นเรื่องต่าง ๆ นั้น ผมคิดว่าถ้ามองในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นประเทศคงมองได้ไม่ชัดเจนนัก เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงหลัง ๆ การแตกแยกหรือแบ่งแยกอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น “เบลอ” มากขึ้นทุกที หาประเทศที่เป็นขวา “ตกขอบ” หรือซ้าย “สุดโต่ง” ได้ยาก ประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมหลายแห่งก็ “กอดรัด” ทุนนิยมเข้าไปเต็มที่ ตัวอย่างเช่นในประเทศจีนเป็นต้น ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่เคยเป็นทุนนิยมจัด ๆ เช่นในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากก็หันมาเน้นนโยบายแบบสังคมนิยมมาก ๆ กลายเป็น “รัฐสวัสดิการ” ไปเลยก็มี ดังนั้น เพื่อที่จะอธิบายความคิดแบบซ้าย-ขวาให้เห็นภาพได้ชัดเจน ผมจึงอยากที่จะใช้ตัวอย่างของสองประเทศในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เหตุผลก็คือ นั่นเป็นช่วงเวลาที่อุดมการณ์ทางการเมืองกำลังมาแรงเป็นกระแสระดับโลกที่ “เชี่ยวกราก” สองประเทศที่ว่าก็คือ เยอรมัน ตัวแทนของฝ่ายขวา กับ สหภาพโซเวียตรัสเซีย ตัวแทนของฝ่ายซ้าย
ความคิดแบบขวานั้น ประเด็นแรกก็คือ มองว่าคนเรานั้น ไม่เท่าเทียมกัน มีคนที่เหนือกว่าคนอื่นในสังคม คนที่เหนือกว่าก็ควรต้องมีสิทธิมีเสียงมากกว่า เป็นผู้นำ เป็นผู้ที่จะกำหนดเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนที่ด้อยกว่าทำตาม พูดง่าย ๆ คนที่ปกครองต้องเป็นคนที่เหนือกว่าหรือดีกว่า นั่นคือสิ่งที่ฮิตเลอร์คิดและทำ เขาคิดว่าคนเยอรมันหรือพูดให้ถูกต้องก็คือคนเชื้อชาติ “อารยัน” นั้นเป็นคนที่เหนือกว่าคนอื่นโดยเฉพาะคนรัสเซียที่เป็นชนเผ่า “สลาฟ” และดังนั้น เยอรมันจะต้องปกครองรัสเซียและประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เป็นพวกสลาฟ ฮิตเลอร์ยังคิดว่าพวกยิวนั้นเป็นชนชาติที่ด้อยและเลวร้ายจะต้องกำจัดให้หมดไป ดังนั้น เขาจึงสังหารคนยิวนับล้าน ๆ คน ส่วนความคิดแบบซ้ายสุดนั้นมองว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีชนชั้น ดังนั้น จึงต้องกำจัดชนชั้นให้หมดไปโดยเฉพาะนายทุนที่ “กดขี่ขูดรีด” ชน “ผู้ใช้แรงงาน” ที่เป็นกลุ่มชนชั้นล่างของสังคม
ฝ่ายขวานั้น มักจะเน้นความเป็น “ชาตินิยม” เรื่องของดินแดนหรืออาณาเขตประเทศเป็นสิ่งที่ต้องรักษาและถ้าเป็นไปได้ต้องขยายออกไปให้ยิ่งใหญ่ การได้อาณาเขตเพิ่มเติมเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและความมั่นคงยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง นั่นทำให้ฮิตเลอร์ยกทัพเข้ายึดครองประเทศเพื่อนบ้านและรัสเซีย ตรงกันข้าม ฝ่ายซ้ายนั้นไม่เน้นความเป็นชาตินิยมแต่เน้นความเป็นสากล พวกเขาเชื่อว่าโลกหรือคนนั้นไม่ได้แบ่งกันที่อาณาเขตของประเทศ แต่แบ่งที่ว่าคุณเป็นคนชั้นไหน “ผู้กดขี่” หรือผู้ที่ “ถูกกดขี่” สำหรับพวกเขาแล้ว เขาเน้นการ “ส่งออก” ความคิดแบบ “ปฏิวัติ” และสนับสนุนให้คนที่ถูกกดขี่โดยเฉพาะกรรมกรและชาวนาต่อสู้เพื่อสร้างระบบสังคมนิยมขึ้นในประเทศของตนเอง ไอดอลของฝ่ายซ้ายอย่าง เช กูวารา นั้น เขาไปช่วยรบกับฝ่ายซ้ายในหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในละตินอเมริกา
ฝ่ายขวานั้น มักจะเน้นการเป็น “วีรบุรุษ” พวกเขาจะเชิดชูผู้นำที่โดดเด่น ฮิตเลอร์ใช้สื่อทุกชนิดและกลุ่มคนต่าง ๆ รวมถึงเยาวชนในการสร้างให้ตนเองเป็นวีรบุรุษและผู้นำของเยอรมัน ฝ่ายซ้ายนั้นมักเน้นการปกครองหรือการนำเป็นกลุ่ม หรือก็คือกลุ่มผู้นำของพรรคการเมืองเช่นพรรคคอมมิวนิสต์
การเป็นขวาจัดของเยอรมัน นั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือคนเยอรมันอยากจะเป็น สถานการณ์มักจะเป็นตัวกำหนด นั่นก็คือ เยอรมัน เองถูกบีบจากสันนิบาตชาติหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่เยอรมันเป็นฝ่ายแพ้ และทำให้ต้องถูกยึดครองดินแดนและเสียค่าปฏิกรณ์สงครามรวมถึงต้องเสีย ศักดิ์ศรีในอีกหลาย ๆ เรื่อง ดังนั้น อุดมการณ์ขวาจึงเกิดขึ้นได้ง่ายและแรง รัส เซียเองนั้นกลายเป็นประเทศซ้ายจัดก็เกิดจากสถานการณ์ในประเทศเช่นเดียวกัน แต่เป็นเรื่องของปากท้องและความเป็นธรรมที่คนรัสเซียต้องประสบซึ่งอาจจะรวม ถึงการ “กดขี่” ของผู้ปกครองจากระบอบการปกครองของซาร์ที่ไม่ยอมผ่อนตามความต้องการของคนโดยเฉพาะกรรมกรในเมือง ดังนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติประชาชน ระบอบการปกครองหลังจากนั้นจึงเป็นซ้ายจัด ซึ่งแน่นอน ต้องกลายเป็นระบอบเผด็จการเช่นเดียวกับเยอรมันที่ก็ต้องเป็นเผด็จการไม่น้อยไปกว่ากัน
การเมืองไทยเองนั้น ความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบ ขวา-ซ้าย ผมคิดว่ามีมาหลายสิบปีตั้งแต่สมัยที่จีนเป็นประเทศสังคมนิยมใหม่ ๆ และ “ส่งออก” แนวความคิดมาที่ประเทศไทยผ่านพรรคคอมมูนิสต์ไทย แต่แนวความคิดแบบ ซ้าย-ขวา ที่มีการเผยแพร่และแสดงออกอย่างกว้างขวางนั้นน่าจะเริ่มหลังจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ที่นักศึกษาเป็น “หัวหอก” ในการเสนอแนวความคิดนี้ และเมื่อความคิดแบบซ้ายเปิดตัวออกมา โดยธรรมชาติ ความคิดแบบขวาก็ออกมาตอบโต้ สุดท้ายอย่างที่เราทราบกัน ประกอบกับเหตุผลทางสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมระดับโลกที่เริ่มไม่เน้นในเรื่องของอุดมการณ์แต่สนใจเรื่องการ “ทำมาหากิน” มากกว่า อุดมการณ์ทางการเมืองของคนไทยก็ “เลือน” หายไป การเมืองไทยหลังจากนั้นก็เดินไป “ทางสายกลาง” เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ของโลก
ผมไม่รู้ว่าเป็นเหตุผลใดแน่ชัด อาจจะเป็นเรื่องของ “อุบัติเหตุทางการเมือง” การเมืองไทยกลับเข้าไปอยู่ใน “ความขัดแย้ง” ที่อาจจะมีกลิ่นอายของการเป็น ขวา-ซ้าย อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าในยุคนี้จะไม่มีใครเรียกแบบนั้น ความแตกต่างในครั้งนี้ก็คือ จำนวนคนที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะมากกว่าอดีตมาก อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ทางการเมืองดูเหมือนจะไม่สุดโต่งเท่า ว่าที่จริง อาจจะไม่มีแนวคิดอะไรที่จะเป็นเรื่องในระดับที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” อะไรเลย ผมก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะไม่เลยเถิดจนคุกคามชีวิตและการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหุ้นแม้ว่าลึก ๆ แล้ว ผมรู้สึกว่า การเมืองไทยในช่วงนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของการลงทุนที่ต้องจับตามอง เป็นความเสี่ยงที่ว่า การเมืองอาจจะสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งทั้ง ๆ ที่คนที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น


DR.nivate

0 ulasan:

Catat Ulasan

Games online